โควิด-19 – ปัญหาใหม่และใหญ่กว่าของคนจนที่ถึงกับ ‘ล้มทั้งยืน’

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิชา วส.319 การวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน

ทุกวันนี้เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ไวรัสโควิด-19 กลายมาเป็นไวรัสที่รุนแรงถึงขนาดนำไปเทียบกับเมื่อ 100 ปีที่แล้ว และอย่างที่หลาย ๆ คน รวมไปถึง ไมเคิล ไรอัน (Michael Ryan) ผู้อำนวยการโครงการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลก กล่าวเอาไว้ว่า “เชื้อไวรัสไม่รู้จักพรมแดน และมันไม่สนว่าคุณมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ใด มีผิวสีอะไร หรือมีเงินมากแค่ไหน”[1]

แน่นอนว่า คนที่ได้รับผลกระทบเรื่องโรคโควิด-19 อย่างรุนแรง และรุนแรงมากกว่าปกตินั่นก็คือคนจนนั่นเอง นอกจากพวกเขาไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ปกติที่คนได้รับแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องของโรคโควิด-19 อีก พวกเขาต้องพบเจอกับอะไรบ้าง แล้วเราจะทำอะไรได้บ้างล่ะ ในบทความนี้เราจะมาพูดถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่พวกเขาต้องเจอเพื่อรับมือกับปัญหาโควิด-19 และแนวทางเพื่อการช่วยเหลือเยียวยาพวกเขากัน

ปัจจุบันคนไทยติดเชื้อกันไปเท่าไหร่แล้วนะ ?

จากข้อมูลโดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทีมงาน TH-STAT.com และกลุ่ม TCDG บอกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยตอนนี้อยู่ที่ 2,369 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มทั้งหมด 111 คน (ข้อมูลวันที่ 8 เมษายน 2563) ซึ่งข้อมูลเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 ปรากฏขึ้นว่ามีผู้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดเป็นจำนวน 71,860 ตัวอย่าง คิดเป็น 1,029 Test ต่อประชากร 1,000,000 คน ซึ่งยังถือว่าน้อยกว่าประเทศเกาหลีที่มีจำนวนการตรวจหาอยู่ที่ ตรวจไป 461,233 ตัวอย่าง คิดเป็น 8,996 Test ต่อประชากร 1,000,000 คน พบผู้ป่วย 10,331 คน (คิดเป็น 2.24%) กล่าวคือคนไทยได้รับการตรวจน้อยกว่าเกาหลีใต้กว่า 8.7 เท่าเลยทีเดียว

ภาพประกอบโดย ประชาชาติธุรกิจ

ค่าใช้จ่ายในการตรวจ ที่เกินกว่าจะรับภาระได้

 เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ทางเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศ ที่ทำให้ทุกคนที่มีประกันสังคม จ่ายค่าตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ในราคาไม่เกิน 3,000 บาทเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมนั้นจะสามารถรับการตรวจหาเชื้อโควิดได้ แต่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 3,000 – 10,000 บาทเลยทีเดียว และจะตรวจฟรีก็ต่อเมื่อมีอาการที่คล้ายจะเป็นโควิด-19, มีประวัติใกล้ชิดคนเดินทางไปประเทศเสี่ยงหรือเคยไปประเทศเสี่ยงมา หรือเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สัมผัสกับผู้ป่วยมาเท่านั้น หากไม่เข้าข่ายตามนี้ หรือไม่สามารถยืนยันได้ว่าตนมีความเสี่ยงจากสาเหตุข้างต้นจริง ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายอยู่ดี ซึ่งสำหรับกลุ่มคนชายขอบ คนจน ว่างงาน หรือคนไร้บ้านนั้น ไม่มีทางเลยที่จะได้รับสิทธิ์ประกันสังคม หรือสามารถรู้ได้ว่าตนใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ และยิ่งพวกเขาเป็นคนที่หาเช้ากินค่ำ หรือลูกจ้างรายวันนั้นยิ่งไม่สามารถหาเงินได้มากเพียงพอที่จะเข้ารับการตรวจหาเชื้อได้เลย พวกเขาไม่สามารถไปหาหมอเพื่อตรวจหาเชื้อได้ เพราะแม้จะอยู่ด้วยตัวเองก็ยังลำบากเลย

โรงพยาบาลค่าตรวจหากไม่พบเชื้อค่าตรวจหากพบเชื้อ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์3000 – 6000 บาทฟรี
โรงพยาบาลราชวิถี3,000 – 6,000 บาท ฟรี
โรงพยาบาลรามาธิบดี5,000 บาทขึ้นไป ฟรี
โรงพยาบาลพญาไท 2ประมาณ 6,100 บาท ฟรี
โรงพยาบาลแพทย์รังสิตประมาณ 8,000 บาท ฟรี
สถาบันบำราศนราดูรประมาณ 2,500 บาท ฟรี
โรงพยาบาลพระราม 9ประมาณ 8,000 – 10,000 บาท ฟรี
โรงพยาบาลเปาโลเมโมเรียล พระประแดง5,000 บาทขึ้นไป ฟรี

ข้อมูลโดย TNN Thailand

ปัญหาทางเศรษฐกิจของคนชายขอบที่เจอเมื่อโรคโควิดระบาด

เมื่อรัฐบาลออกมาตรการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ด้วยการปิดห้างสรรพสินค้า รวมถึงตลาด และร้านอาหารนั่งกิน สถานบันเทิง รวมไปถึงสถานที่อื่น ๆ อีกมากมาย, ประกาศเคอร์ฟิว และนโยบาย “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” สำหรับบางคนอาจจะไม่มีผลกระทบอะไรเลย แต่สำหรับคนจน ที่ทำงานหาเช้ากินค่ำ ต้องพึ่งรายได้จากการทำงานในสถานบันเทิง มีอาชีพเป็นแม่ครัว พนักงานเสิร์ฟ ฯลฯ นับได้ว่าเป็น ‘หายนะ’ เลยก็ว่าได้ พวกเขาต้องสูญเสียรายได้ทันที จากการที่ไม่มีคนมาจ้างพวกเขาทำงาน หรือแม้แต่คนไร้บ้านที่คนบริจาคน้ำและอาหารลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสำหรับพวกเขาแล้ว ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการระบาดของโรค แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายการเยียวยาช่วยเหลือ 5,000 บาทแล้วก็ตาม แต่สำหรับคนจนหลายคน ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และลงทะเบียนรับเงินเยียวยานั้น เป็นไปแทบไม่ได้เลยที่พวกเขาจะได้รับการเยียวยานั้น อีกทั้งคนจนหลายคนที่อาศัยอยู่ในสลัม ก็ไม่ได้ใช้บริการธนาคาร มาตรการการลดดอกเบี้ยธนาคารไม่ได้ช่วยเหลือพวกเขาแต่อย่างใด และด้วยความที่เป็นคนชายขอบ พวกเขาไม่สามารถเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากทางรัฐ และทางรัฐก็ไม่เคยเหลียวแลพวกเขาเลย พวกเขาจะสามารถหาค่าใช้จ่ายมาทำการตรวจหาโรคได้อย่างไรกัน ?

ภาพถ่ายโดย กรุงเทพธุรกิจ

แล้วแก้ปัญหาอย่างไรถึงจะถูกวิธีกันล่ะ ?

การแก้ปัญหาของคนจนกับการที่พวกเขาไม่ได้รับการเยียวยาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และการเข้าถึงการตรวจหาโรคโควิด-19 นี้ หลายคนได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาเอาไว้แล้วอย่างเช่น ให้จัดหางานที่สามารถทำที่บ้านได้ให้กับคนเหล่านี้ หรือให้ทางรัฐช่วยชะลอการใช้หนี้ทั้งต้นและดอก ซึ่งแท้จริงแล้วก็เป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องเช่นกัน แต่ทางรัฐควรช่วยเหลือพวกเขาด้วยการให้การเยียวยาที่ทั่วถึง ลงพื้นที่ช่วยเหลือ รวมไปถึงการตรวจโรคโควิดที่มีความครอบคลุมกับพวกเขามากกว่านี้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการตรวจหาโรคนั้นมีต้นทุนที่สูงจริง ทางรัฐจึงควรจัดสรรงบประมาณเพื่อมาดูแลพวกเขาเหล่านี้ด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ดูแลผู้คนที่อยู่ในระบบเท่านั้น แต่ควรให้การช่วยเหลือเยียวยานั้นเข้าไปถึงกลุ่มคนชายขอบทุกคนอย่างทั่วถึง ทั้งที่พวกเขาอยู่ใกล้เคียงพวกเราดั่งเส้นผมบังภูเขาแท้ ๆ

ภาพถ่ายโดย ไทยโพสต์

ท้ายที่สุดแล้ว อย่างที่ได้บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่า “เชื้อโรคมันไม่เลือกคนติด” ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วไม่ใช่หรือ ที่เราต้องให้ความช่วยเหลือคนเหล่านี้ พวกเขาไม่สามารถส่งเสียงให้ดังพอที่จะให้รัฐบาลหันมามอง แม้ว่าส่วนตัวผู้เขียนเองจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นคนชายขอบ แต่การที่เราสามารถดูแลประชาชนได้อย่างเท่าเทียมกันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ดีงั้นหรือ ?


[1] https://www.xinhuathai.com/high/แพร่ได้ไม่เลือกหน้า-จน_20200319

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://covid19.th-stat.com/th
https://www.prachachat.net/general/news-445313
https://www.worldometers.info/coronavirus/
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/874534
https://www.tnnthailand.com/content/32033
https://www.posttoday.com/social/general/620103
https://transbordernews.in.th/home/?p=24727