กินเจแล้วได้บุญจริงหรือ ?

[บทความต่อไปนี้ ถูกย้ายมาจากบล็อคเก่า ที่เคยได้รวบรวมข้อมูลไว้ที่ “kitti.hol.es/blog” ]

จากชื่อเรื่องข้างบนนั่นคงจะเป็นคำถามที่ใครหลายๆคนคงคิดกันอยู่แน่นอนว่า ตกลงการกินเจ หรือการกินโดยละเว้นเนื้อสัตว์เนี่ย มันทำให้เราได้บุญจากการกินจริงหรือ เราก็สงสัยเหมือนกันเลยไปค้นหามาแล้ว พอจะสรุปกันได้ดังนี้

พระเจ้าเทวทัตได้ขอให้พระพุทธเจ้าให้”ห้ามกินเนื้อสัตว์”

จากเว็บไซด์”ณัฐพบธรรม” ได้หาข้อมูลไว้พอสรุปได้ว่า ในสมัยพุทธกาลนั้นพระเทวทัตได้เคยขอพระพุทธเจ้าให้เพิ่มพระวินัย หรือข้อห้ามสำหรับพระสงฆ์ไว้อีก 5 ข้อซึ่งก็คือ

1) ให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ป่าตลอดชีวิต เข้าสู่บ้านมีโทษ
2) ให้ภิกษุถือบิณฑบาตตลอดชีวิต รับนิมนต์มีโทษ
3) ให้ภิกษุถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต รับคฤหบดีจีวร (ผ้าที่เขาถวาย) มีโทษ
4) ให้ภิกษุอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต เข้าสู่ที่มุงบังมีโทษ
5) ให้ภิกษุห้ามฉันเนื้อสัตว์ตลอดชีวิต ฉันเข้ามีโทษ 

โดยที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อนั้นพระพุทธเจ้าได้ทรงปฏิเสธใน 4 ข้อข้างต้นนี้โดยข้อ 4 ทรงอนุญาตให้อยู่โคนไม้ได้  4  เดือน ช่วงเข้าพรรษาซึ่งตรงกับฤดูฝนโดยให้อยู่ประจำวัดแทน ส่วนในข้อ 5 ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นั้นพระพุทธเจ้าได้ปฏิเสธเนื่องจากว่าส่วนหนึ่งก็เพราะพระสงฆ์เป็นผู้ขอคนอื่นทาน หากไม่ทานเนื้อสัตว์ จะกลายเป็นผู้กินยากอยู่ยาก และเป็นการสร้างความลำบากให้กับชาวบ้านทั่วไปที่ต้องการจะถวายอาหาร และได้บัญญัติว่าเนื้อที่ไม่ควรทานมี 10 อย่างคือ “เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อเสือเหลือง เนื้อหมี เนื้อสุนัข และ เนื้องู”
และพระพุทธเจ้าได้กล่าวถึงการฉันเนื้อว่าจะบาปก็ต่อเมื่อได้เห็น ได้ยิน หรือสงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อถวายตน นั่นล่ะครับ ถึงจะเรียกได้ว่าบาป โดยหากเราไม่ได้เป็นไปตาม 3 อย่างที่กล่าวไว้เมื่อซักครู่นี้แล้วก็จะเปรียบเสมือนเรากินซาก และไม่บาปนั่นเองครับ
จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้าเองนั้นยังฉันเนื้อสัตว์ได้ตามปกติ โดยไม่มีการฉันเจหรือมังฯแต่อย่างใด

แต่จะให้กินแล้วได้บุญก็ทำได้ ?

เว็บไซด์ CityVariety ได้กล่าวไว้ว่าการที่เราจะสามารถทานเจให้ได้บุญนั้นต้องทานโดย

1. กินเพราะอยากกิน : คือกินโดยมีความตั้งใจจริงว่าจะกินเพื่ออุทิศกุศลกรรมแก่บรรดาสัตว์ที่เราเคยเบียดเบียน ที่ล่วงลับไปแล้ว มีกุศลจิต อยากกิน ไม่ใช่ใครบังคับ หรือกินตามกระแสเพราะเขากินกัน
2. กินแล้วไม่บ่น : คือกินแล้วไม่มีการนับวันว่า “เมื่อไหร่จะหมดเจ” คือกินโดยไม่คำนึงถึงว่า หมดแล้วจะไปกินเนื้อที่ไหนต่อดี แต่ถ้ากินด้วยจิตใจอดทน  มุ่งมั่น เพราะตั้งใจที่ยอมละจากสิ่งที่เรานิยม เพื่อสร้างสมความดีทำด้วยเจตนาบริสุทธิ์ นั่นถึงจะได้บุญ
3. กินแล้วไม่เสียทรัพย์ : การกินตามเทศกาลทำให้เสียเงินมาก เพราะว่าเป็นช่วงที่มีความต้องการมาก การกินให้ไม่เสียทรัพย์จึงเกิดจากการทำอาหารเจทานเอง ถือว่าได้ฝึกวิชาการทำอาหาร และไม่เบียดเบียนตัวเอง ใจก็บริสุทธิ์ ทำครั้งหนึ่งก็แบ่งปันได้หลายคนอีก อันนี้ก็ทำให้ได้บุญจากการทำทานเช่นกัน
4. กินเป็นกิจวัตร : ไม่ใช่ว่าทานแค่ช่วงเทศกาลแล้วเลิกไป แต่อาจเป็นแค่ทานวันละมื้อ ก็ยังดี
5. กินให้สนุก : กินด้วยความรู้สึกสนุก หมดกังวล ละลดความติดยึดที่มีอยู่ในตัวตนออกไป แล้วผลบุญมันจะบริสุทธิ์ ให้คลายความกังวลว่า เราจะไปเจอเนื้อไหมนะ หรือย้อนกลับไปข้อ 3 คือหาสูตรการทำอาหารกันไปเรื่อยๆ นั่นสิถึงจะสนุกแล้วทานได้โดยไม่เบื่อ
6. ต้องรักษาศีลภาวนา : กล่าวคือให้เรารักษาศีลด้วย ไม่ใช่เราทานเจ แต่ยังคงทำบาปโดยการผิดศีล (แม้แต่ศีล 5 เองก็ตาม) นั่นก็จะไม่ได้บุญแต่อย่างใดแน่นอน

สรุป

พอเรามาสรุปกันจริงๆแล้ว การกินเจที่ถูกต้องนั้นอาจไม่ใช่แค่การเอาแต่กินเจๆๆๆไม่กินเนื้อสัตว์เลย แต่อาจเป็นการที่เรานั้นเลือกที่จะทานอย่างเหมาะสม และไม่ทำให้รู้สึกลำบากจนเกินไป เช่นจะทานเจ แต่ต้องถ่อนั่งรถไปตั้งไกลเพื่อหามาทาน นั่นก็ยังไม่ใช่ แต่ที่จะให้ดี อาจเป็นการทำเพื่อทานเอง หรือว่าทำแล้วแบ่งปันคนรอบข้างบ้าง นั่นสิถึงจะเรียกว่าทานแล้วมีความสุข อาจไม่ได้บุญมากนัก แต่การที่เรามีความสุขในการทานเจ ก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกันครับ

แต่ยังไงผู้เขียนก็ไม่ได้ทานนะครับ ขอไปทานเนื้อต่อล่ะ ^^
กิตติ.
9-10-2016

ขอบคุณที่มา
http://www.nutpobtum.com/index.php?mo=3&art=419892
http://www.phuttha.com/พระพุทธเจ้า/ตรัสรู้/พระเทวทัตทูลขอวัตถุ-๕-ประการ
http://www.cityvariety.com/contents_old/detail/8278